เส้นทาง  “ฟักทอง” เงินล้าน พืชน้ำน้อย ทำเงินไว ปลูกยังไงให้ได้เกรดA มีตลาดรองรับ

เส้นทาง  “ฟักทอง” เงินล้าน

พืชน้ำน้อย ทำเงินไว ปลูกยังไงให้ได้เกรดเอ มีตลาดรองรับ

ฟักทอง ถือเป็นพืชที่มีประโยชน์ทั้งทางด้านโภชนาการ ใช้ประกอบอาหารได้ทั้งคาวและหวาน และตอบโจทย์เรื่องของรายได้ ถือเป็นอีกหนึ่งพืชทางเลือกสร้างรายได้ที่น่าสนใจให้กับเกษตรกร นอกจากนี้ฟักทองยังเป็นพืชที่ให้ผลผลิตตอบแทนต่อไร่สูง ลงทุนน้อย ทำเงินไว และที่สำคัญตลาดทั้งในและต่างประเทศยังมีความต้องการอีกมาก ปลูกได้ทั่วไปทั้งในเขตร้อนและเขตหนาว หากเรียนรู้เทคนิคการปลูกที่ถูกต้อง สามารถสร้างเงินหลักล้านให้กับเกษตรกรได้แบบง่ายๆ

คุณวิสานนท์ เพิ่มพูน ผู้รวบรวมผลผลิตฟักทอง ประเทศไทย อาศัยอยู่ที่จังหวัดร้อยเอ็ด พัฒนาตนเองจากลูกจ้างขนฟักทองค่าแรงหลักร้อย สู่การเป็นผู้รวบรวมผลผลิตฟักทองที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

โดยคุณวิสานนท์ เริ่มลงทุนปลูกฟักทองครั้งแรกคือพันธุ์ ทองอำพัน 346 ลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ ถึงปัจจุบันมีความรู้เรื่องสายพันธุ์ที่เหมาะสมแต่ละพื้นที่ มีการจัดการแปลงที่เหมาะสม จนประสบความสำเร็จ ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ใช้เมล็ดแค่ 1 กระป๋อง บนพื้นที่ 2 ไร่ สามารถให้ผลผลิตสูงถึง 8 ตัน มากที่สุดในโซน จ.ร้อยเอ็ด

“ตั้งแต่ปลูกฟังทองมาร่วม 20 ปี สายพันธุ์ที่ตลาดรองรับมาตลอด ขายดีตลอดกาลคือ ทองอำไพ 342 ทองอำพัน 346 และทองอำไพ 426 คุณสมบัติผลใหญ่ เนื้อหนา ผิวคางคกสีเขียวเข้ม เนื้อสีเหลือง เหนียว แน่น ก้นหนา”

เทคนิคการปลูกฟักทองคุณภาพ ทรงสวย
เนื้อสีเหลือง เหนียว แน่น ก้นหนา ทนการขนส่ง

คุณวิสานนท์บอกว่า การปลูกฟักทองให้ได้คุณภาพตรงความต้องการของตลาด จะต้องมีการวางแผนอย่างเป็นระบบ เริ่ม ตั้งแต่การคัดเลือกสายพันธุ์ ต้องเลือกสายพันธุ์ที่ตรงความต้องการของตลาด ตนจะเลือกใช้เมล็ดพันธุ์ฟักทองของเจียไต๋ทั้งหมด เนื่องจากตอบโจทย์ทั้งในด้านของการตลาด และในด้านของเมล็ดพันธุ์ที่มีอัตราการงอกสูง ต้านทานโรคดี ปลูกแล้วไม่ต้องซ่อม ได้ผลผลิตต่อไร่สูง ถัดมา คือการวางแผนการปลูก ซึ่งในแง่ความเหมาะสมเชิงพื้นที่ เช่น ทองอำไพ 426 เหมาะสำหรับการปลูกในเขตพื้นที่ภาคใต้-อีสาน อย่างจังหวัดร้อยเอ็ดถือว่าเหมาะมากๆ ส่วนทองอำพัน 346 และ ทองอำไพ 342 ปลูกได้ทั่วประเทศไทย ใช้น้ำในปริมาณน้อย แต่ถ้าหากปลูกบนพื้นที่เยอะๆ ปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แนะนำให้ติดตั้งปั๊มบาดาล หรือ ปั๊มซับเมอร์ส เพื่อความสะดวกและให้ได้ปริมาณน้ำที่เพียงพอกับที่พืชต้องการ

 ปั๊มซับเมอร์ส เจาะลงไปใต้ดิน ลึก 50 เมตร

ขั้นตอนการปลูกแบบพิถีพิถัน
เพื่อให้ได้ผลผลิตคุณภาพ

สำหรับขั้นตอนการปลูกนั้นฟักทองจะเริ่มให้ผลผลิตตั้งแต่ 80-95 วัน หลังหยอดเมล็ด โดยจะต้องทำการเพาะกล้าก่อน ซึ่งต้องเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพ อัตราการงอกสูง จึงจะเป็นจุดเริ่มต้นของผลผลิตที่มีคุณภาพ  และนอกจากนี้ อีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผลผลิตออกมาได้คุณภาพ ต้องใส่ใจเรื่องการจัดการภายในแปลงด้วย

ระบบน้ำ ที่แปลงใช้ “ระบบน้ำหยด” แม้ว่าฟักทองจะเป็นพืชที่ไช้น้ำไม่มากนัก แต่ต้องได้รับในปริมาณที่สม่ำเสมอโดยเฉพาะ “ระยะพัฒนาผล” เพราะอาจทำให้ทรงผลเบี้ยว คือมีลักษณะขยายผลไม่สม่ำเสมอในทุกๆ ด้าน ทรงไม่สวย ตัดแบ่งขายได้ลำบาก ยกตัวอย่างทองอำไพ 426 ที่จำเป็นต้องรดน้ำทุกวัน ช่วงปลูกแรกๆ จะรดน้ำประมาณ 20-25 นาทีต่อวัน จากนั้นค่อยๆ เพิ่มปริมาณการรดน้ำเป็นวันละ 30 นาทีต่อวันจนถึงเก็บเกี่ยว เพราะถ้าฟักทองขาดน้ำ จะส่งผลให้ดอกเล็ก ใบจะเหลือง เมื่อติดลูกทรงจะเบี้ยว เป็นเบอร์รอง ฟักทองที่ทรงสวยจะต้อง ผลกลมแป้นสมดุล ผิวเข้มขึ้นคก เนื้อเนียน สีเหลืองสวย

ระบบน้ำหยด

การเตรียมดิน ไถตากดินไว้อย่างน้อย 2 อาทิตย์ จากนั้นชักร่อง เริ่มต้นจะเน้นบำรุงด้วยปุ๋ยคอก (ขี้ไก่) ช่วยให้ใบฟักทองหนา-ดก

ระยะห่างระหว่างแปลง-ระหว่างต้น มีความสำคัญมากเพราะส่งผลต่อคุณภาพ และปริมาณของผลผลิตโดยตรง จากประสบการณ์นั้น พันธุ์ทองอำไพ 342 ใช้ระยะห่างระหว่างแปลงกว้าง 4.50 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 90 เซนติเมตร ทองอำพัน 346 ใช้ระยะห่างระหว่างแปลงกว้าง 4 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 80 เซนติเมตร และทองอำไพ 426 ใช้ระยะห่างระหว่างแปลง กว้าง 5 เมตร ระยะห่างระหว่างต้น 100 เซนติเมตร

การบำรุง สำหรับฟักทองทั้ง 3 สายพันธุ์นี้ ทองอำไพ 342 ทองอำพัน 346 และทองอำไพ 426 จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 เหมือนกันทั้ง 3 สายพันธุ์ โดยแบ่งใส่เป็นระยะทุกๆ 10 วัน แต่จะมีข้อแตกต่างกันตรงที่อายุการเก็บเกี่ยว ทองอำไพ 342 และทองอำพัน 346 จะมีอายุการเก็บเกี่ยวระหว่าง 80-85 วัน ระยะเวลาการใส่ปุ๋ยอยู่ที่ 60 วัน ส่วนทองอำไพ 426 นั้นมีอายุการเก็บเกี่ยว 90 วัน ดังนั้นระยะการใส่ปุ๋ยจะนานกว่าเดิมอยู่ที่ 70 วัน โดยการใส่ปุ๋ยครั้งสุดท้ายจะเปลี่ยนสูตร 14-14-21  ซึ่งเป็นปุ๋ยสูตรที่เน้นโพแทสเซียม (K) สูง เพื่อช่วยในการเร่งสี เพิ่มน้ำหนัก และช่วยทำให้ทรงผลไม่บิดเบี้ยว

ดังนั้นถ้าเตรียมปัจจัยข้างต้นอย่างครบถ้วน โอกาสที่ได้ผลผลิตมากก็มีสูง พันธุ์ทองอำไพ 342 และทองอำพัน 346 ผลผลิตเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 5-6 ตัน ขึ้นอยู่กับการดูแลที่สม่ำเสมอ ส่วนพันธุ์ทองอำไพ 426 จะอยู่ที่ 6-8 ตัน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ หรือช่วงฤดูกาลที่เหมาะสม ถ้าไม่มีโรคแมลงมารบกวนก็ได้ผลผลิตเยอะ และมีตลาดรองรับทั้งในและต่างประเทศทั้ง 3 สายพันธุ์

 

“ต่อดอก” เทคนิคช่วยฟักทองผสมเกสร ติดผลชัวร์

คุณวิสานนท์ เล่าว่า ลักษณะดอกของฟักทองจะเป็นดอกไม่สมบูรณ์เพศ อธิบายง่ายๆ คือ จะมีดอกเกสรตัวผู้ และดอกเกสรตัวเมีย แยกออกไปแต่ละดอก ดังนั้นการผสมเกสรของฟักทองต้องอาศัย ลม แมลง เพื่อเป็นพาหะในการนำเกสรตัวผู้ ไปยังดอกที่มีเกสรตัวเมียเพื่อผสมเกสรนั่นเอง ดังนั้นเพื่อให้ฟักทองติดผลชัวร์ ต้องช่วยผสมเกสร โดยวิธีสังเกตแยกเพศของดอกฟักทองง่ายๆ คือให้ดูที่ก้านของดอกฟักทอง โดยดอกตัวผู้จะมีก้านดอกเล็กเรียว ซึ่งแตกต่างจากดอกตัวเมียซึ่งจะมีรังไข่ ทำให้ก้านของดอกมีขนาดใหญ่กว่า มีลักษณะบวม โปร่งออกมา หรือ สามารถสังเกตได้บริเวณเกสร ซึ่งเกสรเพศผู้จะมีเพียงแท่งเดียว แต่เกสรเพศเมียนั้นจะมีหลายแท่งประกบกันอยู่ ซึ่งเพียงแค่ดอกตัวเมียเท่านั้น ที่จะกลายเป็นผลของฟักทอง แนะนำให้ผสมเกสรด้วยมือ และต้องทำตอนเช้าเท่านั้น โดยตนเองนั้นเริ่มผสมตั้งแต่ตี 5 ถึงประมาณไม่เกิน 8 โมงเช้า ซึ่งเป็นเวลาที่ดอกบาน และอากาศไม่เย็นจนเกินไป

เกสรเพศเมีย

เกสรเพศผู้

วิธีการผสมเกสรด้วยมือ เริ่มจากการสำรวจแปลง มองหาดอกตัวเมียที่บานแล้ว เมื่อพบก็ให้นำดอกตัวผู้ที่เตรียมไว้ มาฉีกและเด็ดกลีบดอก ให้เหลือแต่เกสรตัวผู้และก้านดอกเท่านั้น จากนั้นนำเกสรตัวผู้เข้าไปถูกับเกสรตัวเมียที่อยู่ในดอกตัวเมีย โดยถูให้ทั่วเกสรเพศเมียเพื่อให้เกสรตัวผู้กระจายตัวอย่างทั่วถึง ซึ่งวิธีการนี้ก็เหมือนการเรียนแบบการผสมเกสรของแมลงนั่นเอง แต่ต่างกันที่การผสมเกสรด้วยมือจะมีโอกาสการติดลูกของฟักทองที่สูงกว่า

ผสมเกสรด้วยมือ

ส่วนในขั้นตอนของการไว้ข้อนั้น เมื่อฟักทองติดผล จะไว้ลูกที่ 2 เท่านั้น โดยปลิดลูกแรกทิ้ง ตำแหน่งข้อที่ 16-17 ขึ้นไป โดยตนเองนั้นไม่ได้ใช้วิธีเด็ดยอด-แต่งแขนง เพราะฟักทองเป็นพันธุ์ใหญ่ ถ้าตัดยอดจะทำให้ฟักทองมีลูกขนาดเล็ก และจะทำให้การเดินเถาแน่นเกินไป จะเน้นไว้เฉพาะเถาแม่ต้นเดียว ทำให้ดูแลง่าย ติดลูกสวยอีกด้วย

ปัญหาโรคแมลงและวิธีแก้ไข ปัญหาศัตรูพืชของฟักทองที่พบในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ดหลักๆ คือ เพลี้ยไฟ ลักษณะอาการเมื่อถูกเพลี้ยไฟคือฟักทองใบจะหยิก ย่น ใบผิดรูปร่าง ใบเหลืองแข็งกรอบ ส่งผลให้ยอดหงิกงอไม่ติดดอกได้ มักระบาดในช่วงฤดูแล้ง แต่ถ้าปลูกถูกช่วงฤดูกาลจะไม่ค่อยมีปัญหาเพลี้ยไฟมารบกวน

นอกจากนี้ยังมีในส่วนของปัญหาโรคพืชที่พบบ่อยคือ โรคราน้ำค้าง มักจะเจอตอนที่ฟักทองติดลูกแล้ว เพราะเป็นช่วงที่อ่อนแอ พบมากช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง อากาศหนาว มีน้ำค้างลงจัด และฝนตกชุก

การป้องกัน โรคราน้ำค้างวิธีหนึ่ง ที่สามารถทำได้ตั้งแต่ต้นทางคือการเว้นระยะปลูกที่เหมาะสม เพื่อลดความชื้นในแปลง

ระยะเก็บเกี่ยวผลผลิต ฟักทองที่ปลูกหลักๆ 3 สายพันธุ์ คือ 1. ทองอำไพ 342 อายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 85 วัน หลังจากหยอดเมล็ด ลักษณะทรงผลแป้น ไส้น้อยเนื้อเยอะ 2.ทองอำพัน 346 อายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 80 วัน หลังจากหยอดเมล็ด ลักษณะทรงผลหนา ไหล่ยกสูง พูใหญ่ ผิวคางคก ถ้าสมบูรณ์มากๆ น้ำหนักจะขึ้นสูงถึงลูกละ 8 กิโลกรัม และ 3 . ทองอำไพ 426 อายุการเก็บเกี่ยวอยู่ที่ 90 วัน หลังจากหยอดเมล็ด ทรงผลใหญ่ ผิวคางคก แป้นสวย เนื้อหนา ให้ผลผลิตสูง

ฟักทองพันธุ์ทองอำไพ 426 ทรงผลใหญ่ ผิวคางคก แป้นสวย เนื้อหนา

ราคาผลผลิต ฟักทองอยู่ในเกณฑ์ราคากิโลกรัมละ 8-10 บาท ถือว่าเกษตรกรได้กำไร ส่วนความแตกต่างของราคานั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ทองอำไพ 342 และ ทองอำพัน 346 ราคาอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 10 บาท ส่วนทองอำไพ 426 ราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 11 บาท เพราะทองอำไพมีขนาดลูกที่ใหญ่ ราคาจะแพงขึ้นมาอีก

รายได้ ยกตัวอย่างพื้นที่ปลูกฟักทองจังหวัดร้อยเอ็ด ลงทุนไร่ละ 10,000-15,000 บาท ปลูก 10 ไร่ ลงทุนประมาณ 100,000 บาท จะสามารถขายผลผลิตได้ 300,000 บาท ถือเป็นพืชที่สร้างรายได้ดีในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือนทำเงินได้เร็ว ส่วนภาพรวมการตลาดของฟักทองทั้งในและต่างประเทศยังมีความต้องการอีกมาก ตลาดในประเทศมีการซื้อขายหมุนเวียนวันละไม่ต่ำกว่า 100 ตัน และถ้านับรวมการส่งออกต่างประเทศด้วยตลาดฟักทองมีการซื้อขายไม่ต่ำกว่า 150-300 ตันต่อวัน

ตีใบเพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิต

ฝากถึงเกษตรกรมือใหม่หัดปลูก

“สำหรับมือใหม่ที่อยากทดลองปลูกฟักทองเป็นพืชสร้างรายได้ แนะนำให้เริ่มปลูกทองอำพัน 346 ก่อนเพราะว่าเป็นพันธุ์ที่ปลูกและดูแลง่ายที่สุด จากนั้นเมื่อเริ่มมีความชำนาญแล้วค่อยขยับปลูกสายพันพันธุ์ทองอำไพ 342 และ ทองอำไพ 426 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ตลาดต้องการทั้งหมด และขอเน้นย้ำกับมือใหม่เสมอว่า การปลูกฟักทองให้ได้ผลดีขั้นตอนที่สำคัญที่สุดคือการเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพอย่างของเจียไต๋” คุณวิสานนท์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารอื่นๆ ข้อมูลสินค้า และข่าวสารจากเมล็ดพันธุ์เจียไต๋ เพิ่มเติมได้ที่

ข้อมูลสินค้าเมล็ดพันธุ์เจียไต๋  : https://www.chiataigroup.com/business/seed/chiataiseed

Facebook :  https://www.facebook.com/chiataiseed

Your cart

No products in the cart.